บทความ | ไอเดียเลือก หน้าต่าง ให้เข้ากับบ้าน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังจะสร้างบ้าน เรามีไอเดียในการออกแบบ หน้าต่าง มาให้คุณพิจารณากัน โดยสิ่งที่ต้องคำนึงก่อนจะตัดสินใจเลือกรูปแบบ ตำแหน่ง และขนาดของหน้าต่าง มีดังนี้
1 ปริมาณแสงอาทิตย์ เราต้องพิจารณาว่าบริเวณนั้นๆ ของบ้านต้องการปริมาณแสงมากน้อยเพียงใด และเป็นแสงลักษณะใด เช่น ห้องน้ำและห้องครัวน่าจะเป็นห้องที่ได้รับแสงมาก เพื่อลดความอับชื้นที่อาจเกิดขึ้นภายในห้องได้ ห้องนอนไม่ควรได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง ควรจะเป็นแสงทางอ้อมที่ไม่จ้าเกินไป
2 ความเป็นส่วนตัว จะส่งผลต่อขนาดและตำแหน่งของหน้าต่าง เพื่อไม่ให้คุณรู้สึกลำบากเมื่อต้องระแวดระวังสายตาจากเพื่อนบ้านตลอดเวลา คุณอาจจะเลือกเจาะหน้าต่างให้อยู่สูงกว่าระดับสายตาเพื่อความเป็นส่ วนตัว และไม่ต้องปิดม่านเพื่อให้แสงเข้ามาได้อย่างเต็มที่
3 ทิวทัศน์ สำหรับห้องที่ต้องการให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามภายนอก อย่างเช่นบ้านตากอากาศริมทะเลหรือบนภูเขา ก็สามารถเจาะหน้าต่างที่มีขนาดใหญ่ หรือเจาะหน้าต่างกระจกต่อเนื่องจากผนังด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งเพื่อให้มองเห็นวิวได้ต่อเนื่อง
4 การระบายอากาศ ห้องที่ต้องการเปิดหน้าต่างบ่อยครั้งเพื่อระบายอากาศ ควรเลือกหน้าต่างที่เปิดได้ง่ายและเปิดได้กว้าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และภายในห้องห้องหนึ่ง หากเป็นไปได้ควรเจาะหน้าต่างสองด้านของผนัง เพื่อให้ลมสามารถพัดผ่านได้ ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของหน้าต่าง
ขนาดและตำแหน่งของหน้าต่าง
นอกจากขนาดและตำแหน่งของหน้าต่างจะมีผลต่อปัจจัยต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีผลอย่างมากต่อหน้าตาภายนอกของตัวบ้านอีกด้วย นอกจากนี้ ขนาดและตำแหน่งของหน้าต่างบนผนังภายในบ้านที่แตกต่างกันก็ให้ผลทางกายภาพและความรู้สึกที่ต่างกันด้วย
อยู่กลางผนัง หน้าต่างที่อยู่กึ่งกลางผนังจะให้ความรู้สึกมั่นคงและดูเป็นระเบียบ ผนังจะทำหน้าที่ เหมือนกรอบรูปภาพของทิวทัศน์ภายนอก แต่หากมีขนาดที่เล็กเกินไป แสงที่ลอดผ่านเข้ามาจะเป็นแสงจ ้าจุดเล็กๆ ท่ามกลางผนังที่มืด ซึ่งไม่สามารถให้ความสว่างได้ทั่วทั้งห้อง จะเกิดการ ตัดกันของแสงและเงาที่ชัดเกินไป ทำให้รู้สึกไม่ผ่อนคลาย ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยการเจาะหน้าต่าง บนผนังอีกด้านหนึ่งเพื่อให้มีแสงมาจากสองทาง จะช่วยให้แสงภายในห้องดูสบายตาขึ้น
อยู่ที่มุม การเจาะหน้าต่างที่มุมด้านใดด้านหนึ่งของผนัง เป็นการเล่นกับการจัดองค์ประกอบของห้อง ทำให้ห้องดูมีลูกเล่นและความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งการเจาะลักษณะนี้เพื่อต้องการได้เห็นทิวทัศน์ด้านนอกในตำแหน่งนั้นพอดี หรืออาจจะเพื่อให้แสงสว่างกับมุมห้อง แสงจะกระจายไปที่ผนังทั้งสองด้าน ไม่ให้เกิดเป็นมุมอับต่อเนื่องระหว่างผนังด้านหนึ่งกับผนังอีกด้านหนึ่ง การเจาะหน้าต่างลักษณะนี้เพื่อลด
ความเป็นระนาบที่ดูหนักของผนังและเพดาน เช่น ถ้าเป็นการเจาะหน้าต่างตามแนวตั้ง ผนังที่เหลือจะรู้สึกเหมือนถูกแยกออกไป และถ้าเจาะตามแนวนอน ฝ้าเพดานก็จะดูเบาเหมือนลอยอยู่ และเป็นการเปิดมุมมองให้สามารถเห็น ทิวทัศน์ภายนอกได้กว้างไกลขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้แสงเข้าสู่ภายในห้องได้มากขึ้นอีกด้วย
รูปแบบของหน้าต่าง
โดยทั่วไปหน้าต่างมี ให้เลือก 5 แบบ ซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้
– บานเปิด พบเห็นได้บ่อยที่สุด มีทั้งบานเปิดเดี่ยว บานเปิดคู่ และบานเปิดชุดที่เปิดหลายบานในวงกบเดียว ซึ่งการเปิดใช้จะกินเนื้อที่มากกว่าแบบอื่นๆ แต่ก็สามารถรับลมได้มากเช่นกัน
– บานเลื่อน เป็นหน้าต่างที่เปิดเลื่อนในวงกบโดยมีชุดล้อซ่อนอยู่ในบานกรอบบนหรือล่าง สามารถทำได้ทั้งสองบานสวนกัน หรือติดตายหนึ่งบานและเลื่อนหนึ่งบาน หรือถ้ามีหลายๆ บานต่อเนื่องกันก็สามารถเลื่อนทุกบานมารวบเก็บไว้ด้านเดียวได้ นิยมใช้เป็นวงกบอะลูมิเนียมเพราะมีน้ำหนักเบา หากบานหน้าต่างมีน้ำหนักมากเกินไปอาจฝืดหรือตกรางได้ง่าย หน้าต่างแบบนี้เหมาะจะใช้ติดตั้งในพื้นที่แคบ เพราะไม่กินพื้นที่ในการเปิด – ปิดการติดตั้งควรให้บานที่เปิดเลื่อนได้อยู่ภายนอกเพื่อป้องกันน้ำฝนรั่วซึมเข้ามา
– บานกระทุ้ง เป็นหน้าต่างที่เปิดโดยการผลักออกไปจากกรอบล่าง มีข้อดีคือ เวลาฝนตกเบาๆ อาจไม่ต้องปิด เพราะตัวบานสามารถเป็นกันสาดได้ในตัว แต่บานกระทุ้งนั้นไม่สามารถเปิดออกได้จนสุด เพราะจะเอื้อมมือปิดยาก นอกจากนี้หากมีขนาดใหญ่เกินไป ชุดบานพับอาจล้า ทำให้บานตก ไม่สามารถเปิดค้างได้
– บานเฟี้ยม เป็นบานที่สามารถพับและเลื่อนได้ในตัว จึงเปิดได้กว้างและไม่เปลืองพื้นที่ในการพับเก็บ จะติดตั้งรางเลื่อนที่ด้านบนหรือด้านล่างวงกบก็ได้ การออกแบบบานไม่ควรให้เป็นเลขคี่ เพราะบานสุดท้ายจะไม่อยู่ในรางเลื่อน บานเฟี้ยมที่ใช้กันทั่วไปมักไม่สามารถกันน้ำและแมลงได้ดี จึงไม่นิยมใช้กับผนังภายนอก ส่วนชนิดที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานภายนอกได้ดีมักผลิตจากอะลูมิเนียมคุณภาพสูงและมีราคาแพง
– บานปิดตาย หรือบานฟิกซ์ เป็นหน้าต่างที่ไม่สามารถเปิดออกได้ มีไว้สำหรับชมวิวหรือให้แสงธรรมชาติเข้าเท่านั้น นิยมใช้ในพื้นที่ที่เปิดปิดใช้งานได้ยาก หรือไม่ต้องการให้เปิดได้เพื่อความปลอดภัย
Cr. บทความจากบ้านและสวน
แชร์บทความนี้